จังหวัดหนองคาย -
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พร้อมด้วยพล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล
ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม
2559 ณ ศาลากลางจังหวัดหนองคาย เพื่อประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
และประชุมสัมมนายกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่
21 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา,
ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด
เข้าร่วมประชุม

1. การประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
พล.อ.สุรเชษฐ์
ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
กล่าวว่า
กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งประกาศให้จังหวัดหนองคายเป็น 1 ใน 10 ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
นอกจากจังหวัดตาก สงขลา นครพนม สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี มุกดาหาร
และนราธิวาส
โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มีคุณภาพ
สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
ซึ่งครอบคลุมใน 2 อำเภอ คือ
อำเภอเมืองหนองคาย และอำเภอสระใคร ได้ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนกรอบเวลาในการดำเนินงานให้มีความพร้อมและดำเนินการได้จริงก่อนปี
พ.ศ.2563
เนื่องจากหากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่ตั้งไว้ก็จะส่งผลดีต่อการศึกษา
ส่วนการผลิตกำลังคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน
ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวบรวมตัวเลขหรือจำนวนความต้องการของแรงงานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
เพื่อนำมาปรับแผนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสาขาที่มีความต้องการในตลาดแรงงาน
ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(สำนักงาน กศน.)
ขอให้ไปทบทวนว่าเนื้อหาของวิชาที่สอนในปัจจุบันมีความสอดคล้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่
พร้อมทั้งสำรวจว่าวิชาใดที่ควรเพิ่มหรือลดจำนวนชั่วโมงเรียน
การหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์และคุ้มค่ามาก
เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมมือกันระดมความคิดเห็นและเสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เช่น
ภาคเอกชนได้ให้ข้อห่วงใยเกี่ยวกับการขาดวินัยของเด็กที่เป็นปัญหาต่อการเข้าทำงานในสถานประกอบการของภาคเอกชน
ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันสร้างเสริมวินัยและคุณธรรมให้กับเด็ก
ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มข้น
เพื่อปลูกฝังให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของการมีระเบียบวินัย
ผลจากการประชุมในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
หนองคาย
สรุปรวบรวมข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายไปประกอบการจัดแผนการศึกษาของจังหวัดหนองคาย
จากนั้น 10
จังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศจะต้องนำแผนงานโครงการและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษามาประชุมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระหว่างวันที่
24-25 สิงหาคม 2559
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมของการจัดการศึกษาในจังหวัดหนองคายว่า
ได้ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์
และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน คือ
การเตรียมความพร้อมให้เด็กที่เกิดมา เช่น ด้านสาธารณสุขและการศึกษา
อีกทั้งจังหวัดหนองคายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องระเบียบวินัยของเด็ก
เช่น เด็กไม่มีความอดทน เข้าทำงานไม่นานก็ลาออกจากงาน
พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจและแก้ปัญหาเด็กตกหล่นที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาด้วย
ในการประชุมครั้งนี้
มีความเห็นและข้อเสนอแนะที่หลากหลายจากผู้บริหารการศึกษา
ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน
ในการเตรียมความพร้อม การจัดการปัญหา
และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้
-
ผู้แทนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กล่าวว่า
การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย จะเน้นไปที่กลุ่มอาชีพ 3
กลุ่ม ได้แก่ เกษตรอินทรีย์, การขนส่งระบบโลจิสติกส์
และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะเร่งด่วน ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
และผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับ 3 กลุ่มอาชีพดังกล่าว
อีกทั้งเน้นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาเวียดนาม
พร้อมทั้งมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
ตลอดจนจัดการศึกษาแบบทวิศึกษา
- ระยะสั้น
ด้วยการขยายและจัดตั้งโรงเรียนต้นแบบร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
และจัดการศึกษาในระบบเพื่อรองรับบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการทุกชนชาติ
- ระยะยาว
ด้วยการขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน
พร้อมทั้งจัดการศึกษาต่อยอดและเติมเต็มด้านทักษะการปฏิบัติงาน
และทักษะภาษาให้กับผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ
ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรให้มีความโดดเด่นเพื่อดึงดูดนักศึกษาในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
กล่าวโดยสรุป คือ
ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาว่าอาชีพอะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
เพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสการเกิดอาชีพใหม่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ
ที่จะร่วมกันหารือการเปิดสอนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสาขาที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
-
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า
จังหวัดหนองคายมีสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนรวม 12 แห่ง
สำหรับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายจะมุ่งเน้น 4
สาขาวิชา คือ โลจิสติกส์, แมคคาทรอนิกส์, การท่องเที่ยวและการโรงแรม
และการแปรรูปอาหาร โดยร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี
อีกทั้งมีแผนในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
ด้วยการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับ สปป.ลาวและเวียดนาม
เพื่อสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายแรงงาน
-
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า
การจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วิทยาเขตหนองคาย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย,
สถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1
(สถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ, หนองคาย, อุดรธานี,
หนองบัวลำภู และเลย จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง
2 ปี ปัจจุบันมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัด 10 แห่ง) เป็นต้น
โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตในหลักสูตรที่หลากหลาย
และเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพได้หลังจบการศึกษา
-
ผู้แทนสำนักงาน กศน.จังหวัดหนองคาย
กล่าวว่า กศน.จังหวัดหนองคาย มีแผนพัฒนาการศึกษาระหว่างปี พ.ศ.
2560-2564
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
มุ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ
ตลอดจนยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แรงงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้สามารถจบการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรของสำนักงาน
กศน.ได้ อีกทั้งมีแนวทางพัฒนาทักษะภาษาอาเซียนและภาษาอังกฤษ
ด้วยการเปิดหลักสูตรอบรมภาษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว (30-300 ชั่วโมง)
และนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้วิธีการค้าขายผ่าน
SmartPhone
ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของประชาชนในวัยแรงงาน เช่น
ส่งเสริมการเป็นผู้ผลิตสินค้า OTOP
-
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
กล่าวว่า
ได้เตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
ด้วยการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมภาษาอาเซียนและภาษาอังกฤษ เช่น
มีห้องเรียนแบบ EP (English Program) เป็นต้น
นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะอาชีพในกิจกรรมลดเวลาเรียน
เพิ่มเวลารู้ โดย สช.
ได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาเอกชนและสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ
เพื่อทำให้สถานศึกษาผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
อีกทั้งเสนอให้มีการจัดระบบสถานศึกษาเอกชนในจังหวัดหนองคายอย่างเป็นระบบ
เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานและวางแผนการศึกษาร่วมกัน
-
ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า
โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเทศบาลเมืองหนองคาย
จะมีการลงนามความร่วมมือโรงเรียนต้นแบบด้าน STEM Education
กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
นอกจากนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเทศบาลเมืองหนองคายมีแนวทางจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
อาทิ มุ่งเน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร,
เน้นทักษะอาชีพ การท่องเที่ยว การค้าขาย เป็นต้น
ส่วนโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
จะส่งเสริมการศึกษาด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) และมีโครงการติวเตอร์เพื่อน้อง
โดยทำการติวหนังสือให้นักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6
รวมทั้งส่งเสริมการประชุมอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับจังหวัดขนาดใหญ่
-
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า
จังหวัดหนองคายมีโรงงานอุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อย
ปัญหาที่พบในภาพรวมของการจัดการศึกษา คือ
ผู้ที่จบการศึกษาแล้วมาประกอบชีพด้านอุตสาหกรรมจะมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย
จึงเห็นสมควรให้มีการส่งเสริมระเบียบวินัยให้กับเด็ก เช่น
มีวิชาที่สอนเรื่องระเบียบวินัยตั้งแต่เด็กยังอายุน้อย ๆ
เพื่อให้เด็กรู้ว่าการไม่มีระเบียบวินัยส่งผลกระทบอะไรบ้างในสังคม
เป็นต้น
-
ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า
เห็นด้วยกับปัญหาเด็กที่จบการศึกษาแล้วมาประกอบอาชีพยังมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย
อีกทั้งเด็กยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหนังสือให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย
นอกจากนี้ ควรมีครูแนะแนวในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เพื่อแนะแนวให้เด็กเลือกเรียนตามความสามารถและทักษะที่ตนถนัด
ตลอดจนเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอด้านบวกของการเรียนอาชีวศึกษาที่มีเด็กที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จจำนวนมาก

2.
การประชุมสัมมนายกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (2016 OBEC Upper Northeastern: Education
Quality Development in 21st Century)
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วยจังหวัดหนองคาย,
บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร, อุดรธานี, หนองบัวลำภู และเลย รวม 23
เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อต้องการให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่
21 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้
รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถตามทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่
21
พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
ดังเช่นในปัจจุบันได้มีการนำระบบ TEPE Online (Teachers and Educational
Personnel Enhancement Based on Mission and Functional Area as Majors)
หรือ
"การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่การปฏิบัติงานเป็นฐาน"
มาใช้ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) ซึ่ง TEPE Online เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีความทันสมัย
อีกทั้งเป็นระบบออนไลน์ที่ครูสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในทุกที่และทุกเวลา
ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาครูสู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพได้
และเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน
เนื่องจากครูสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาอมรบที่ส่วนกลาง
ส่งผลให้การใช้งบประมาณเกี่ยวกับการอบรมลดลง
และเป็นการลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวของครูที่จะใช้เดินทางมาอบรมที่ส่วนกลางด้วย
ขณะนี้ได้ขยายผล TEPE Online ไปยังครูทั่วประเทศประมาณ 5 แสนคน
และคาดว่าจะขยายผลไปยังครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต่อไป
นอกจากนี้
กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21
อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการทำให้ผลการจัดอันดับคะแนน PISA (Programme
for International Student Assessment) ของเด็กไทยดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา,
การทำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อ่านออกเขียนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์,
การนำ STEM Education มาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน,
การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา,
การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมตามนโยบายโรงเรียนประชารัฐ
และการร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการจัดให้มีห้องเรียนกีฬา
เป็นต้น

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ
และผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา
ได้ร่วมพิธีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559
และเยี่ยมชมนิทรรศการ TEPE Online ด้วย
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
13/8/2559

^
เลื่อนขึ้นด้านบน