เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการบริหารจัดการอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง เข้าร่วมงานจำนวน 146 คน ณ ห้องกรุงเทพบอลรูม โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพฯ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภาคการเกษตรควบคู่กับการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนทุกช่วงวัย จึงกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน เพื่อเร่งขับเคลื่อนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง จำนวน 3 กิจกรรม คือ 1) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง 2) การประชุมสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวให้ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง สังกัด สอศ. จำนวน 51 แห่ง และ 3) การประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงแผนขับเคลื่อนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง โดยจะนำนโยบายและการดำเนินงานในเหล่านี้ไปปรับปรุงแผนการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนภาคการเกษตรมีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิม เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ราคาผลผลิตตกต่ำ รวมทั้งการไม่มีอาชีพหรือรายได้เสริมหลังฤดูการผลิต ส่งผลให้ประชาชนเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพในเมือง ประกอบกับการที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดให้ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็น 1 ใน 10 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดจนรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร และวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านเกษตรกรรมและประมง ที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก สอศ. เป็นหน่วยงานที่ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศและภาคเอกชนและอุตสาหกรรม
การขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีทักษะขั้นสูง พร้อมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ปัญหา รวมถึงสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ครอบคลุมการพัฒนากำลังคนทุกสายอาชีพ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการช่วยเหลือและพัฒนาด้านการเกษตร จึงได้กำหนดให้มีการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง สามารถยกระดับสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตร ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ขอฝากให้นำแนวทางการพัฒนาการศึกษา 4 ด้าน ไปประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนด้านเกษตร เทคโนโลยี และประมง คือ โค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นภาษาแห่งอนาคตในศตวรรษที่21 ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล, นโยบายอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาและทบทวนทักษะการทำงาน (Upskill และ Reskill) มุ่งเน้น การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, การให้ความสำคัญกับการอ่าน การเขียน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยการสื่อสารร่วมสมัย ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายจิตอาสา ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เรียนรู้ศาสตร์พระราชา อาสาเกื้อกูลรับใช้สังคม
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน 22/8/2562
|