กรุงเทพธุรกิจ สกสค.-ธ.ออมสิน เห็นชอบ เงื่อนไขเอ็มโอยูแก้หนี้ครูฉบับใหม่คืนเงิน 0.5-1% ให้ครูลดดอกเบี้ยรายเดือน ชี้ครู 4 แสนรายที่เป็นผู้กู้วินัยดี ได้ประโยชน์ ขณะที่ "ชาติชาย" ย้ำมีผลทันทีหลังเอ็มโอยู พร้อมแจง 3 มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ วานนี้ (13มี.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจากการหารือร่วมกับนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เพื่อหาข้อสรุปการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู กับธนาคารออมสินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันว่า ธนาคารออมสินจะคืนเงิน 0.5-1% ให้แก่ครูที่มีวินัยทางการเงินดี โดยนำไปลดดอกเบี้ยให้ครูกลุ่มนี้เป็นรายเดือน จากเดิมที่เงินดังกล่าวธนาคารออมสินจะส่งคืนเข้ากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ข้อตกลงนี้จะมีผลทันทีหลังการลงนามในเอ็มโอยูฉบับใหม่เรียบร้อย ที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนเม.ย.นี้เป็นของขวัญรับเปิดเทอมใหม่ให้กับครูทุกคน "ที่ผ่านมา สกสค.ได้รับฟังความคิดเห็นครูทั่วประเทศพบว่า ต้องการให้ธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ย สำนักงานสกสค.จะไม่ตามเก็บเงินส่งให้ธนาคารออมสิน แต่จะให้ทำสัญญากับต้นสังกัดเพื่อหักเงินโดยตรง เพื่อให้ครูได้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งหากครูผิดนัดชำระหนี้ จะถูกปรับตามหลักการของธนาคาร คือจะต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น"นพ.ธีระเกียรติกล่าว ส่วนกรณีสำนักงาน สกสค.ทวงเงินจากธนาคารออมสินที่หักจากเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ซึ่ง ฝ่ายกฎหมายของทั้ง สกสค. และธนาคารออมสิน จะเจรจาร่วมกัน เพราะทุกอย่างต้องเป็นตามกระบวนการ แต่ทางศธ.ยืนยันว่าต้องการทวงเงินคืน นายชาติชาย กล่าวว่าธนาคารออมสินจะลดดอกเบี้ยในอัตรา0.5-1% ให้กับครูที่มีวินัยทางการเงินดีทันทีที่มีการลงนามในเอ็มโอยูฉบับใหม่เรียบร้อย ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ครูผู้กู้ที่มีวินัยทางการเงินดี ประมาณ 4 แสนกว่าคนคิดเป็น 90% จากจำนวน ผู้กู้ทั้งหมดประมาณ 450,000 คน เช่น กู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% เดือนหนึ่งต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ประมาณ 4,000 บาท จะลดดอกเบี้ยลงประมาณ 1,000 บาท เหลือดอกเบี้ย 3,000 บาท แต่หากครูผู้กู้คนใดที่ต้องการผ่อนน้อยลงตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ต้องไปทำสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกับทางธนาคารแต่ถ้าไม่ได้ทำอะไร ยังชำระต่องวดเท่าเดิมเงินที่ได้จาก การลดดอกเบี้ย จะถูกนำไปหักเงิน ต้นลง สำหรับครูที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารออมสินมีโครงการผ่อนชำระ3มาตรการ คือ 1 ปลอดเงินต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ในกรณีที่ครูมีเงินในบัญชีเกิน 30% ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด มาตรการที่ 2 ปลอดเงินต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 50% โดยครูต้องมีเงินในบัญชีเหลือ 15-30% และมาตรการที่ 3 ถ้าครูเหลือเงินในบัญชีต่ำกว่า 15% ให้จ่ายดอกเบี้ยในช่วงนี้ 25% และพักเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปีหลังจากนั้นกลับมาผ่อนปกติ "ถ้าครูคนไหนเข้ามาตรการที่ 1 คือจ่ายดอก 100% และไม่ผิดนัดชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมในการลดดอกเบี้ยตามข้อตกลงใหม่ได้ ส่วนครูที่ยังพักดอกเบี้ย ตามเทคนิคเรียกว่า ยังมีหนี้ค้างชำระ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล (NPL) ที่ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องรอจนกว่าจะเข้าสู่การชำระในภาวะปกติ มีวินัยทางการเงินจึงจะสามารถเข้าร่วมในการปรับลดดอกเบี้ยตามเอ็มโอยูใหม่ได้" นายชาติชายกล่าว ขณะที่ นายพินิจศักดิ์ กล่าวว่า โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ที่สำนักงานสกสค. ร่วมดำเนินการกับธนาคารออมสิน มีทั้งหมด7 โครงการ แต่ละโครงการธนาคารออมสิน จะส่งเงินคืน เข้ากองทุนสนับสนุนพิเศษฯ ในอัตราที่ไม่เท่ากัน ผู้กู้แต่ละโครงการจะได้รับการลดดอกเบี้ยไม่เท่ากันโดยข้อตกลงนี้จะมีผลกับคนที่มีวินัยทางการเงินดีประมาณ 4 แสนคน ส่วนคนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน ถ้าภายหลังมีวินัยทางการเงินที่ ดีขึ้นสามารถได้รับการลดดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน อนึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนี้อยู่ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นหนี้เฉลี่ยรายละ 1.5-2 ล้านบาท มูลค่าหนี้สินครูทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการและออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงาน สกสค.สมัยนายพิษณุ ตุลสุข อดีตรองปลัด ศธ.และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากครู ที่ตั้งวงเงินปล่อยกู้ไว้ 1 พันล้านบาท เน้นแก้ไขกลุ่มผู้มีหนี้วิกฤต โดยทำความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศกว่า 40 แห่งที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการและอนุมัติเงินกู้แล้ว 4 ราย แต่เวลานี้ยังไม่มีการอนุมัติเพิ่มเติม ขณะที่การจัดทำเอ็มโอยู ฉบับใหม่ระหว่าง สกสค.และธนาคารออมสิน นั้นเป็นการทำเอ็มโอยูฉบับที่ 2 หลังจากฉบับเดิมที่ใช้มานานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากธนาคารออมสินด้วยว่า ปัจจุบันครูที่เป็นหนี้เสีย มีอยู่ประมาณ 5,412 ล้านบาทส่วนหนี้ดี มีประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท--จบ-- ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
|