เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ยื่นหนังสือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการขัดต่อกฎหมาย ต่อประธานองคมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตน โดยล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าสามารถกระทำได้ และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายวิษณุเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น จึงถือว่าเรื่องยังไม่สิ้นสุด ถ้าเราไปเปลี่ยนแปลงอะไรจะเกิดความวุ่นวาย จึงให้มหาวิทยาลัยดำเนินตามกฎเกณฑ์เก่าไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งใดออกมา อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูนอกจากมหาวิทยาลัยกลุ่ม มรภ. กลุ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก็น่าจะมีมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วยหลายแห่งที่เปิดกว้างให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการ สามารถเป็นอธิการบดีได้ "เรื่องนี้ไม่มีใครคิดมาก่อน พอมีคนทักขึ้นมา จึงเป็นประเด็นซึ่งน่าคิด หลักการคือแต่ละแห่งจัดทำข้อบังคับในการสรรหาอธิการบดีของตัวเอง โดยเปิดกว้างให้ไม่จำกัด อายุผู้สมัคร แต่กฎหมายของมหาวิทยาลัยหลายที่ บอกว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ต้องเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ดังนั้น จึงขัดแย้งกัน เพราะเมื่อเข้ามาเป็นอธิการบดีก็ต้อง education@matichon.co.th ถือว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ตอนไปออกข้อบังคับ การสรรหารอธิการบดี กลับเปิดกว้างให้อายุเท่าไรก็ได้ ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า ผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีได้ คงวุ่นวาย ซึ่งนักกฎหมายต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร ซึ่งผมทราบว่าทุกคนมีความกังวลและเกือบทุกมหาวิทยาลัยมีประเด็นนี้ หากมีการปรับแก้จริง ก็คงต้องทำทั้งระบบ" นพ.ธีระเกียรติกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งใจ พอคัดเลือกคนมาแล้วก็บังเอิญไปขัดกับกฎหมายของมหาวิทยาลัย นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่การเขียนกฎหมาย ซึ่ง มรภ.และ มทร.ไปกำหนดข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ที่บีบรัดตัวเองมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องหลายแห่ง ยืดเยื้อมานานหลายปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. ไม่มีปัญหา กฎหมายเขียนชัดเจนว่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีได้ เพราะถือว่าแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้ความสามารถมากพอ ที่จะบริหารมหาวิทยาลัยได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาให้ทุเลาการบังคับมติที่ประชุมสภา วาระพิจารณาเลือกอธิการบดี และประกาศเรื่องผลการเลือกอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ลงวันที่ 30 มกราคม 2560 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น หลังจากที่นายปัญญา เจริญพจน์ ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ได้ฟ้องนายกสภา และสภาต่อศาลปกครองนครราชสีมา เนื่องจากเสนอนางมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 มีนาคม 2560 ขึ้นโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ โดยศาลให้เหตุผลว่า "แม้ พ.ร.บ.มรภ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุของอธิการบดี แต่มาตรา 18 และมาตรา 65/2 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ มาตรา 19 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจะพ้นจากราชการในสิ้นปีงบประมาณ หากจำเป็นต้องต่อเวลาราชการ จะดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ประเภทผู้บริหารและงานบริหารอื่นตามที่ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำหนดมิได้ ดังนั้น ตำแหน่งอธิการบดีจึงต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และจะต้องยังไม่เกษียณ" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาฟ้องร้องเกี่ยวกับการตั้งผู้เกษียณเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.มหาสารคาม เป็นต้น และยังมีอีกหลายแห่งที่เตรียมฟ้องร้องเพิ่มเติม ซึ่งแนวโน้มปัญหาดังกล่าว ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดี ทำให้เกิดกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยการออกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ให้สามารถตั้งผู้เกษียณดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ เพื่อให้ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานและมีความรู้ความสามารถ สามารถบริหารมหาวิทยาลัยได้ --จบ-- --มติชน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2560 (กรอบบ่าย)--
|