ไฟเขียวครูการศึกษาพิเศษจบป.ตรี สศศ.เร่งผลิตเพิ่ม-ดึงอุดมศึกษาแก้ไขระยะยาว
นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้น สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. กำหนดนิยามคำว่าครูการศึกษาพิเศษ กำหนดให้เพิ่มเติมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษา สำหรับคนพิการจากเดิม 13 คน เป็น 14 คน และให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ เพราะเป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษาพิเศษทั้งหมด จากเดิมที่เป็นแค่เลขานุการตำแหน่งเดียว
นายพะโยมกล่าวต่อว่า ครม.กำหนดให้ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษระดับปริญญาตรี ซึ่งทำการสอนและได้รับเงินเพิ่ม เป็นครูการศึกษาพิเศษตามพ.ร.บ.นี้ เพราะแต่เดิมครูการศึกษาพิเศษต้องมีวุฒิเกินปริญญาตรี จึงปรับแก้เพื่อให้อยู่ในวุฒิป.ตรี ก็สามารถทำการสอนได้ และจะได้รับเงินเพิ่ม เพราะตามระเบียบของแต่ละกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ข้าราชการครู มาตรา 33 ระบุว่ามีหลักเกณฑ์ในการที่จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับครูการศึกษาพิเศษ "ทั้งนี้ การผลิตครูการศึกษาพิเศษก็มีข้อจำกัด เพราะครูที่มาสอนเด็กพิการจะเป็นพนักงานข้าราชการและลูกจ้าง ซึ่งในแต่ละปีข้าราชการครูจะเพิ่มได้ไม่มาก ผู้จบใหม่หากให้มาเป็นครูแล้วพอมีโครงการบรรจุให้เลยก็จะมั่นใจ แต่ถ้าให้เรียนและต้องมาสอบแข่งขันเป็นครูแล้ว ส่วนใหญ่จะหันไปเรียนสาขาอื่นที่น่าสนใจกว่า ทำให้ต้องส่งเสริมการผลิตครู โดยขณะนี้เราใช้วิธีอบรมและพัฒนาเพื่อเพิ่มจำนวนครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียน ส่วนการแก้ในระยะยาวต้องผลิตครูเพิ่มโดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว" ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าว
ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod
|